menu

วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

หนูกินไส้เดือน ทำไงดี?

    ครั้งแรกที่ผู้เขียนได้เข้าอบรมเรื่องการเลี้ยงไส้เดือนของมหาวิทยาเกษตรศาสตร์ ผู้เขียนได้รับคอนโดฯ เลี้ยงไส้เดือน มา 1 หลัง  มี ลิ้นชัก เป็นคอนโดฯ ที่น่ารักมาก เพราะมีขนาดเล็กกะทัดรัด ดูอบอุ่นปลอดภัยและน่าอยู่ พอเหมาะพอดีกับไส้เดือนจำนวน 70 ตัว




          ผ่านไปสักระยะหนึ่ง คอนโดฯ 4 ลิ้นชัก ค่อนข้างจะคับแคบไปซะแล้ว น่าจะต้องเปลี่ยนมา เลี้ยงในกะละมัง ดีกว่า เพราะไส้เดือนมีการเพิ่มจำนวน ขยับขยายครอบครัวมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีพื้นที่รองรับที่ใหญ่ขึ้นตามนอกจากจะเพิ่มจำนวนกะละมังแล้วยังต้องย้ายที่รวมทุกกะละมังไว้ในห้องเดียวกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อยอีกด้วย



กะละมังเลี้ยงไส้เดือน

และแล้ววันหนึ่ง ปัญหาที่คาดไม่ถึง ก็มาให้เราตามแก้จนได้ เหตุการณ์เกิดขึ้นก็มาจากการที่เราเปลี่ยนมาใช้กะละมังแทนคอนโดไส้เดือน ผู้เขียนได้สังเกตเห็นกะละมังใบหนึ่ง  มีเมล็ดแตงโมเกลื่อนกระจายบน Bedding  เริ่มจากกะละมังใบเดียว และก็มีมากขึ้นหลายกะละมัง ลักษณะของเมล็ดแตงโมจะถูกแทะกินเนื้อในเหลือแต่เปลือกของเมล็ด ผู้เขียนจึงแก้ปัญหาด้วยการหยุดให้อาหารชนิดที่มีเมล็ดเช่น แตงโม แตงไทย จากนั้นผ่านมา 1 สัปดาห์ ปัญหายังไม่จบ เริ่มมีบางกะละมังที่ Bedding มีรูโหว่เป็นโพรง ผ่านไป 2-3 วัน พบว่ามีรูโหว่ที่กะละมังอื่นๆ เพิ่มขึ้น รูโหว่มีลักษณะเป็นโพรงขนาดเล็ก และมี Bedding เลอะกระจายออกมาบริเวณกะละมัง เมื่อคุ้ยดูในกะละมัง จึงพบว่าจำนวนไส้เดือนที่เลี้ยงลดลงมากผิดปกติ (ไส้เดือน ½ กิโลกรัม : 1 กะละมัง) 



          จากเหตุการณ์ครั้งนี้ ทำให้ผู้เขียนค่อนข้างมั่นใจและหมดข้อสงสัย ว่าต้นเหตุต้องเป็นหนูแน่นอนที่มากินไส้เดือน!! จะรอช้าต่อไปไม่ได้แล้ว จำเป็นที่ต้องหา สแลน (Slan) หรือตาข่ายกรองแสง มาคลุมทุกๆ กะละมัง  ซึ่งดูจะเป็นวิธีการแก้ปัญหาที่ได้ผลดีทีเดียว หนูไม่มากินไส้เดือนอีกเลย ไม่สามารถจะลอดผ่านสแลนที่คลุมกะละมังมิดชิดเข้ามาได้  สแลนที่คลุมกะละมัง ถูกผูกด้วยเชือกฟางมัดอย่างแน่นหนาทุกๆกะละมัง ไส้เดือนปลอดภัย หนูไม่มากวนใจอีก

สแลน (Slan) หรือตาข่ายกรองแสง ที่นำมาคลุมกะละมังเลี้ยงไส้เดือน

เหมือนจะจบปัญหาไปแล้ว แต่ผ่านไปแค่เพียงเดือนเดียว ก็มีปัญหาครั้งสุดท้ายมารบกวนอีก ครั้งนี้กลับเป็นปัญหาที่มาจากตัวผู้เขียนเอง ที่ต้องเผชิญกับความเหน็ดเหนื่อยกับการแกะเชือกเปิดสแลนให้อาหารไส้เดือน แล้วก็ต้องคอยปิดสแลนผูกเชือกกลับคืน เดี๋ยวแกะ เดี๋ยวผูก ทำอย่างนี้กับกะละมังนับสิบกะละมัง ซึ่งเป็นการทำงานที่เสียเวลา เหน็ดเหนื่อย เสียพลังงานมากเกินไป

ซึ่งในครั้งนั้น ผู้เขียนมองการณ์ไกล และมั่นใจว่าจะเลี้ยงไส้เดือนระยะยาวและจริงจังอย่างแน่นอน จึงได้จัดการแก้ปัญหาอีกครั้ง ด้วยการทำประตูมุ้งลวดให้กับห้องที่เลี้ยงไส้เดือน เพื่อปกป้องคุ้มครองครอบครัวไส้เดือน AF ให้ปลอดภัย ไม่ต้องกังวลกับหนูที่มารบกวน พวกหนูตัวเล็กๆ นี่ร้ายกาจ ตัวนิดเดียวแต่สามารถกินไส้เดือนได้หมดยกทั้งฟาร์มเล็กๆของเราเลย


บ้านข้าวเล่าเรื่อง


วันอังคารที่ 24 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปัญหาในการเลี้ยงไส้เดือน ยังไงก็เอาอยู่ : ไส้เดือนเลื้อยหนีออกจาก Bedding!!!

         ถ้าหากจะเปรียบการเลี้ยงไส้เดือนเหมือนบทเรียนบทหนึ่ง ที่ได้ใช้เวลาในการเรียนรู้มาเป็นเวลานานพอสมควร ระหว่างที่เราได้เรียนรู้การเลี้ยงไส้เดือน เราได้ประโยชน์จากการเลี้ยงไส้เดือน, ได้ความรู้ เกร็ดเล็กเกร็ดน้อยต่างๆ และแน่นอนว่าเราจะต้องพบกับ ปัญหาในการเลี้ยงไส้เดือน พบปัญหาก็ต้องหาสาเหตุเมื่อพบสาเหตุของปัญหา เราก็ต้องค้นหาวิธีแก้ปัญหา เพื่อพัฒนาการเลี้ยงไส้เดือนของเราให้ดียิ่งขึ้น และสามารถอยู่อย่างยั่งยืนได้ในอนาคต

     ประสบการณ์ที่ผ่านมาจากการเลี้ยงไส้เดือน ผู้เขียนได้พบกับปัญหาต่างๆ ซึ่งเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงและได้หาแนวทางในการแก้ปัญหาให้ลุล่วงไปแล้ว  ข้อเขียนทั้งหมดนี้จึงเขียนจากข้อเท็จจริง จากประสบการณ์จริง




เมื่อไส้เดือนเลื้อยหนีออกจากที่อยู่  

Bedding หรือบ้านไส้เดือน  
http://ricehousestory.blogspot.com/2015/10/bedding-bedding.html คือที่อยู่ของไส้เดือนเราต้องคอยสังเกตภายในBedding   นี้ให้ดี ให้ละเอียด และสม่ำเสมอ สังเกตพฤติกรรมของไส้เดือน เช่น ถ้าเราเห็นไส้เดือนค่อยๆ เลื้อยหนีหลังจากให้อาหาร แสดงว่ามีบางอย่างผิดปกติ เราต้องเริ่มหาสาเหตุให้พบว่าเป็นเพราะอะไร เพราะโดยธรรมชาติของไส้เดือนเมื่อเวลาเจออาหารก็จะชอนไชลงไปในอาหารนั้นๆ ไม่มีเลื้อยหนี  แต่จากกรณีนี้ผู้เขียนได้ตั้งข้อสังเกตุและหาข้อมูลรวมทั้งสังเกตพฤติกรรม จึงค้นพบว่า อาหารที่ให้ไส้เดือนกินอาจจะมีปัญหา ผู้เขียนได้ให้มะม่วงสุก (ทั้งที่ผ่านการหมักแล้วถึงสองวัน)  ปรากฏว่าไส้เดือนเลื้อยหนีทันทีที่ให้อาหาร แสดงว่ามะม่วงสุกนั้นยังคงมีกรดที่อยู่ในระดับสูงเกินกว่าที่ไส้เดือนจะทนได้ เหตุนี้จึงไม่เหมาะที่จะนำมาเป็นอาหารของไส้เดือน


     นอกเหนือจากสาเหตุของอาหารไส้เดือนแล้ว ยังมีอีกสาเหตุ ที่ทำให้ไส้เดือนหนีออกจาก Bedding  ซึ่งก็คือ Bedding ที่แฉะเกินไป และมีความชื้นสูง เราสามารถแก้ไขได้โดยใส่ขี้วัว (Bedding) แห้ง  เพื่อลดความชื้นลง หรืออาจนำ Bedding ไปผึ่งลมเพื่อระบายความชื้น และเมื่อความชื้นลดลงไส้เดือนก็จะสงบ หยุดคลานหนีออกจากที่อยู่ของมัน Bedding ที่ดีไส้เดือนก็จะอยู่ดีไม่หนีไปไหน จะมุดลงใน Bedding กินอาหารอย่างมีความสุข

                                                    







บ้านข้าวเล่าเรื่อง

วันพฤหัสบดีที่ 19 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ดี๊ดี ทำไมต้องกินข้าวไรซ์เบอร์รี่?


     ทำไมต้องกินข้าวไรซ์เบอร์รี่? คุณสมบัติที่โดดเด่นของ "ข้าวไรซ์เบอร์รี่" คือมีสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ โอเมก้า 3, ธาตุสังกะสี, ธาตุเหล็ก, วิตามินอี, วิตามินบี 1, เบต้าแคโรทีน, ลูทีน, โพลิฟีนอล, แทนนินและแกมมา นอกจากนี้รำข้าวและน้ำมันรำข้าวยังมีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระที่ดีเหมาะสำหรับใช้ทำผลิตภัณฑ์อาหารเชิงบำบัดอีกด้วย




สารอาหารที่สำคัญที่อยู่ในข้าวไรซ์เบอร์รีประกอบด้วย


  1. โอเมก้า 3 มีอยู่ 25.51 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมซึ่งเป็นกรดไขมันมีส่วนสำคัญต่อโครงสร้างและการทำงานของสมอง ตับและระบบประสาท ลดระดับโคเลสเตอรอล
  2. ธาตุสังกะสี 31.9 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม มีส่วนช่วยในการสังเคราะห์โปรตีน สร้างคอลลาเจน รักษาสิว ป้องกันผมร่วง กระตุ้นรากผม
  3. ธาตุเหล็ก 13-18 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ช่วยเสริมสร้างพลังงานในร่างกาย เป็นส่วนประกอบที่สำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และเอนไซม์ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ออกซิเจนในร่างกายและสมอง
  4. วิตามินอี 678 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม ช่วยชะลอความแก่ บำรุงผิวพรรณลดโอกาสเกิดโรคเกี่ยวกับหลอดเลือดสมองและหัวใจทำให้ปอดทำงานดีขึ้น
  5. วิตามินบี1 0.42 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ซึ่งมีความจำเป็นต่อการทำงานของสมอง ระบบประสาท ระบบย่อยอาหาร รวมทั้งป้องกันเหน็บชา
  6. เบต้าแคโรทีน 63 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม ช่วยชะลอความแก่ ลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง ช่วยบำรุงสายตา
  7. ลูทีน 84 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม ป้องกันจอประสาทตาเสื่อม บำรุงการไหลเวียนของเลือดในเส้นเลือดฝอยที่หล่อเลี้ยงตา
  8. โพลิฟีนอล 113.5 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทำลายฤิทธิ์ของอนุมูลอิสระป้องกันโรคมะเร็ง
  9. แทนนิน 89.33 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม แก้ท้องร่วง แก้บิด สมานแผล
  10. แกมมา โอไรซานอล 462 ไมโครกรัม ต่อ 100 กรัม เส้นใยอาหาร มีอยู่ปริมาณมาก มีส่วนช่วยในการขับถ่าย และสุดท้ายคือ สารต้านอนุมูลอิสระ เป็นสารที่พบมากในข้าวไรซ์เบอร์รี่ ช่วยลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวาน โรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคมะเร็งได้

    "ข้าวไรซ์เบอร์รี่" ที่เราปลูกเองนี้ เป็นข้าวสุขภาพที่ให้คุณค่าทางโภชนาการสูง จะเห็นว่าเป็นที่นิยมรับประทานมากในหมู่ผู้รักสุขภาพ สำหรับในการปลูก เราทำด้วยวิธีการเกษตรอินทรีย์ ได้มีการนำปุ๋ยมูลไส้เดือนมาใช้ในการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่นี้ การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ต้องใช้ความปราณีตในการปลูกมากทำให้มีราคาสูงแม้จะได้ผลผลิตไม่มากก็ตาม (ประมาณ 400 กิโลกรัมต่อไร่)

ประโยชน์ทางโภชนาการ มีดังนี้

1. ผู้สูงวัย ซ่อมบำรุงระบบประสาท, ระบบการมองเห็น, สร้างเสริมระบบหมุนเวียนโลหิตและชะลอความแก่    
2. หญิงตั้งครรภ์ มีสารโฟเลต ซึ่งจะสามารถป้องกันโรคปากแหว่งเพดานโหว่ในเด็ก มีน้ำตาลต่ำช่วยควบคุมน้ำหนักและมีธาตุเหล็กสูง ซึ่งจำเป็นสำหรับสตรีมีครรภ์
3. ผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคโคเลสเตอรอล เป็นข้าวที่มีน้ำตาลต่ำกว่าปกติ  จึงเหมาะกับผู้ป่วยโรคเบาหวานและมีเส้นใยอาหาร (Fiber) ช่วยลดระดับไขมันในเลือดและใช้ควบคุมน้ำหนัก ช่วยระบบขับถ่าย
4. ผู้ป่วยโรคโลหิตจาง  เป็นข้าวที่มีธาตุเหล็กสูง หากผู้ป่วยโลหิตจางรับประทานอยู่เป็นประจำ จะได้รับธาตุเหล็กตามธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยบำรุงโลหิตและบำรุงร่างกาย


วันเสาร์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ข้าวไรซ์เบอร์รี่ คือข้าวอะไร

       "ข้าวไรซ์เบอร์รี่" คือพันธุ์ข้าวที่เกิดจากการผสมข้ามพันธุ์ระหว่างข้าวหอมนิลกับข้าวดอกมะลิ 105  จากศูนย์วิทยาศาสตร์ข้าว ได้รับความร่วมมือระหว่างและคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กำแพงแสน ซึ่งร่วมกันวิจัยและปรับปรุงพันธุ์ขึ้นมา ทำให้ได้ข้าวพันธุ์ใหม่ที่มีลักษณะเด่นประจำสายพันธุ์คือ มีลักษณะเฉพาะเป็นเมล็ดข้าวสีม่วงเข้ม เมล็ดเรียวยาว ประมาณ 7.0 มิลลิเมตร เมื่อหุงแล้วจะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัว






การปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่
     การปลูกควรเลือกพื้นที่ที่มีขนาดใหญ่ติดต่อกัน มีความอุดมสมบรูณ์สูงของดินสูง และอยู่ห่างจากถนนสายหลักประมาณ 100 ถึง 200 เมตร เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ในการปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ จะใช้วิธีปักดำต้นกล้า 20 วัน และทำการดำนาโดยใช้กล้าข้าว 1 ต้นต่อ 1 กอ เว้นระยะห่างระหว่างกอ 1 ไม้บรรทัด ในพื้นที่ 10 ไร่ ใช้พันธุ์ข้าวไรซ์เบอร์รี่ประมาณ 50 กิโลกรัม อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน (4เดือน)



ข้อจำกัดในการปลูก

     สารอาหารและคุณค่าทางอาหารของข้าวไรซ์เบอร์รี่ขึ้นอยู่กับสีของเมล็ดข้าว การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่เพื่อให้ได้ข้าวที่มีคุณภาพและมีคุณค่าทางอาหารที่ดีที่สุดมีปัจจัยหลักคือ เรื่องของอุณหภูมิ โดยเฉพาะในระยะข้าวกำลังติดเมล็ด อุณหภูมิในตอนกลางวันควรอยู่ที่ 32 องศา และช่วงกลางคืนควรอยู่ที่ 22 องศาหรือต่ำกว่า ซึ่งจะทำให้ได้เมล็ดข้าวที่มีสีเข้มมากขึ้น

การเก็บรักษา

     ข้าวไรซ์เบอร์รี่มีวิธีการเก็บรักษาเหมือนข้าวสายพันธ์ทั่วไปของไทย ควรเก็บไว้ในภาชนะที่ด้านในแห้ง สะอาด และมีฝาปิดมิดชิด




การรับประทานหรือการแปรรูป
        สำหรับผู้ที่ยังไม่คุ้นเคยกับการรับประทานข้าวกล้อง ควรเอาข้าวไรซ์เบอร์รี่ผสมกับข้าวขาวในอัตราส่วน 1:2 ไปก่อน เมื่อเกิดความเคยชินจึงค่อยเพิ่มปริมาณข้าวไรซ์เบอร์รี่และลดปริมาณข้าวข้าว การซาวน้ำควรซาวเพียงครั้งเดียวไม่ควรทำซ้ำเพราะจะทำให้คุณค่าทางอาหารหายไป และหลังจากซาวเสร็จแล้วควรรินน้ำออกให้หมด การหุงให้ใช้ข้าว 1 ส่วน ต่อน้ำสะอาด 1.5 ส่วน
ข้าวไรซ์เบอร์รี่สามารถนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อาหารอยากหลากหลาย เช่น ชา กาแฟ เส้นขนมจีน ขนมครก ขนมปัง เบเกอรี่ ไอศกรีม และคุกกี้ เป็นต้น



วันศุกร์ที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เชื้อราไตรโคเดอร์มา เชื้อราปกป้องต้นข้าว

       "เชื้อราไตรโคเดอร์มา" เป็นเชื้อราที่ดำรงชีวิตอยู่ในดิน อาศัยเศษซากพืชซากสัตว์และอินทรีย์วัตถุเป็นแหล่งอาหาร เจริญเติบโตได้อย่างรวดเร็ว เชื้อราไตรโคเดอร์มา สามารถผลิตส่วนขยายพันธุ์ที่เรียกว่า  โคนิเดีย  หรือ สปอร์ จำนวนมาก ซึ่งทั้ง โคนิเดีย และ สปอร์ เมื่อรวมกลุ่มหนาแน่นจะเห็นเป็นสีเขียว และส่วนที่เป็นสีเขียวนี้เองที่เรียกว่า "เชื้อราไตรโคเดอร์มา"  

       "เชื้อราไตรโคเดอร์มา" เป็นศัตรู (ปฏิปักษ์) ต่อเชื้อราชนิดอื่นที่เป็นสาเหตุโรคพืช "เชื้อราไตรโคเดอร์มา" จะใช้วิธีจัดการกับเชื้อราที่ไม่ดีชนิดอื่นๆ ด้วยการเบียดเบียนหรือเป็นปรสิตและแข่งขัน หรือแย่งอาหารที่เชื้อราไม่ดีเหล่านั้นต้องการ
           

      นอกจากนี้  "เชื้อราไตรโคเดอร์มา" ยังสามารถผลิตปฏิชีวนสารและสารพิษ  ตลอดจนน้ำย่อยหรือเอนไซม์สำหรับช่วยละลายผนังเส้นใยของเชื้อโรคพืชอีกด้วย

      คุณสมบัติพิเศษของ "เชื้อราไตรโคเดอร์มา" คือสามารถช่วยละลายแร่ธาตุให้อยู่ในรูปที่เป็นประโยชน์ต่อพืช จึงช่วยส่งแสริมการเจริญเติบโตของพืช และชักนำให้ต้นพืชมีความต้านทานต่อเชื้อโรค ทั้งเชื้อราและแบคทีเรียชนิดที่ไม่ดี ที่เป็นสาเหตุของโรคพืช



 บ้านข้าวเล่าเรื่อง

วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

เกร็ดความรู้ เกี่ยวกับเครื่องยนต์ฉีดพ่น

       เครื่องยนต์ฉีดพ่นแบบเครื่องสะพายหลัง  (Knapsack Powered Pump Sprayer) เป็นเครื่องฉีดพ่นชนิดติดเครื่องยนต์ ฉีดพ่นโดยปั๊มแรงดันน้ำ ถังน้ำยามีความจุ 25 ลิตร ใช้น้ำมันเบนซินเป็นเชื้อเพลิง ฉีดพ่นได้ไกลถึง 5 เมตร จึงสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ

วันพฤหัสบดีที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ปุ๋ยน้ำบำรุงต้นข้าวสูตรฮอร์โมนไข่

       "ปุ๋ยน้ำบำรุงต้นข้าวสูตรฮอร์โมนไข่" คือ อาหารเสริมสำหรับลำต้นของต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ ต่อเนื่องมาจากที่ได้ฉีดพ่น ปุ๋ยน้ำสูตรฮอร์โมนนมสด สำหรับปุ๋ยน้ำบำรุงต้นข้าวสูตรฮอร์โมนไข่นี้ เราจะใช้เมื่อต้นข้าวอายุสัก 2 เดือน 

       "ไม่ใช่เกษตรกร ไม่ใช่ชาวนาก็ทำได้นะคะ"  จากที่ได้ศึกษาข้อมูลจากปราชญ์ชาวบ้าน แล้วนำมาปรับใช้ตามแนวทางของตัวเรา ซึ่งถ้าเราเปิดใจให้กว้างๆ เราก็จะสามารถทำงานที่ยากหรือไม่เคยทำ ให้สำเร็จลุล่วงไปได้อย่างง่ายดาย

 


















ส่วนผสมปุ๋ยน้ำบำรุงต้นข้าวสูตรฮอร์โมนไข่

1.    ไข่ไก่ 5 กก. ชั่งพร้อมเปลือก (ประมาณ 100 ใบ)
2.    กากน้ำตาล 5 กก.
3.    นมเปรี้ยว 1 ขวด
4.    ลูกแป้งข้าวหมาก 2 ลูก
5.    ถังมีฝาปิด





วิธีทำ
1. นำเปลือกไข่มาตำหรือบดให้ละเอียด จากนั้นนำไปรวมกับส่วนผสมอื่นๆ 
       2. เอามือกวนส่วนผสมให้เป็นเนื้อเดียวกันอยู่ในถัง และปิดฝาไว้ 
       3. ทุก 3 วันให้เปิดฝาถัง เพื่อให้ก๊าซที่สะสมในแต่ละวันระเหยออก จากนั้นก็คนให้เป็นเนื้อเดียวกัน และปิดฝาไว้ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ จนครบ 1 เดือน ก็จะได้ ปุ๋ยน้ำบำรุงต้นข้าวสูตรฮอร์โมนไข่ ที่สามารถนำไปใช้ได้เลย


วิธีใช้
       ใช้ ปุ๋ยน้ำบำรุงต้นข้าวสูตรฮอร์โมนไข่ 100 CC ต่อน้ำ 20 ลิตร นำมาผสมกัน แล้วจึงนำไปฉีดพ่นต้นข้าว โดยฉีดทุก 3 วัน หรือทุก 7 วัน ก็ได้ การฉีดพ่นต้นข้าวด้วยสูตรฮอร์โมนไข่นี้ มีประโยชน์ต่อต้นข้าวมากเพราะช่วยบำรุงต้นข้าวให้ออกรวง และไม่เพียงแต่จะหล่อเลี้ยงฉีดพ่นเฉพาะต้นข้าวเท่านั้น แต่ยังสามารถฉีดพ่น พืชผักผลไม้ ดอกไม้ ครอบคลุมสิ่งแวดล้อมตามธรรมชาติในครัวเรือนได้ โดยไม่มีอันตรายหรือเกิดผลเสียใดๆ 


ข้อมูลเครื่องยนต์ฉีดพ่น คลิ๊ก


   




       ข้าวแปลงนี้เป็นข้าวที่มีความปลอดภัยสูงสุด 100 %  เพราะตั้งแต่เริ่มเพาะต้นกล้าก็ได้รับการปกป้องเมล็ดพันธุ์ด้วยเชื้อราไตรโคเดอร์มา (Trichoderma  harzianum)ได้ดูดซึมปุ๋ยมูลไส้เดือน ได้รับอาหารเสริมคือฮอร์โมนนมสด และฮอร์โมนไข่ ต้นข้าวไม่ได้สัมผัสกับสารเคมีตลอด 4 – 5 เดือนของการปลูก ปลายปีนี้ เราจะมีข้าวที่สะอาดปลอดภัย กินได้อย่างสนิทใจทุกเม็ด กินเปล่าๆ ไม่มีกับข้าวก็สุขใจเหลือหลาย ปลูกข้าวเอง ใส่ปุ๋ยเอง ดูแลเอง พอได้กินข้าวของเราเองมันช่างอิ่มเอิบใจอย่างไม่รู้จะเปรียบเปรยกับอะไร

บ้านข้าวเล่าเรื่อง

วันจันทร์ที่ 2 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

ผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือนอย่างไร

      การเลี้ยงไส้เดือนเพื่อทำปุ๋ยมูลไส้เดือน  สามารถเลี้ยงได้ง่ายๆ ไม่ลำบากตรากตรำอะไร เพราะไส้เดือน เป็นผู้ปฏิบัติการผลิตจนครบกระบวนการ เริ่มตั้งแต่การดูดกินอาหารและจะมีกระบวนการย่อยในกระเพาะอาหารในตัวเอง กากอาหารที่ไส้เดือนกินนั้น จะเคลื่อนตัวผ่านลำไส้ ผ่านทวารหนักเป็นมูลเส้นบางๆ ความยาวตั้งแต่  0.3 – 0.7  ม.ม.  แล้วแต่ขนาดของตัวไส้เดือน ซึ่งเมื่อจบกระบวนการในตัวไส้เดือน ก็จะถูกขับถ่ายออกมาเป็นมูลไส้เดือนที่ได้นำจุลินทรีย์จากกระเพาะอาหารติดมากับมูลด้วย เป็นกระบวนการทำปุ๋ยไส้เดือนง่ายๆ 



     
         การทำปุ๋ยมูลไส้เดือนนี้มีประโยชน์มากมาย ประโยชน์ของมูลไส้เดือน ก็คือจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ต่อดินนั่นเอง ดินที่บำรุงด้วยปุ๋ยมูลไส้เดือนจะร่วนซุย โปร่ง มีรูพรุนจำนวนมาก น้ำซึมผ่านได้ดี ซึ่งปุ๋ยเคมีจะไม่มีคุณสมบัติพิเศษนี้ คือไม่มีจุลินทรีย์ดังเช่น ปุ๋ยมูลไส้เดือน ฉะนั้น ปุ๋ยมูลไส้เดือนไม่ว่าจะใช้กับพืชชนิดใด ก็สามารถใช้ได้ไม่มีพิษภัยหรืออันตรายใดๆ ทั้งสิ้น

บ้านข้าวเล่าเรื่อง