menu

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ที่มาของบ้านข้าวเล่าเรื่อง ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ย










       ผู้เขียนเกิดแนวคิดที่ว่า ในชีวิตของมนุษย์เรานั้น จะต้องผูกพันกับปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร, ที่อยู่อาศัย, เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งหากจะพูดถึงปัจจัยด้านอาหาร แน่นอนว่า "ข้าว" เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารทุกมื้อ ข้าวอยู่กับคนทุกครอบครัว ทุกยุคทุกสมัย เรากินข้าวกันมาตลอดชีวิต แต่เราแทบไม่เคยตระหนักเห็นความสำคัญของข้าวเท่าไหร่นัก เรากินข้าวเพราะเราเคยชินมาตั้งแต่เกิด กินเมื่อหิวข้าว เหมือนกับดื่มน้ำเพราะหิวน้ำ

       ผู้เขียนเคยมีคำถามในใจว่า หากเราจะกินข้าวที่ปลอดภัย ข้าวที่ปลอดสารเคมี จะหาได้จากที่ไหน และเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้าวที่เรากินนี้เป็นข้าวที่สะอาดปลอดสารจริงๆ ข้าวประเภทไหนจะดีต่อสุขภาพของเราและทำให้เรามั่นใจได้จริงๆ คำตอบคือ น่าจะเป็นข้าวของเราเอง และเนื่องจากผู้เขียนมีความสนใจ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นทุนเดิม ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์มากมายของข้าวชนิดนี้ จึงได้มีความคิดริเริ่มที่จะ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เอง

       และนอกเหนือจาก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ปลูกเองแล้ว ผู้เขียนยังได้มีการเลี้ยงไส้เดือนดิน พันธุ์ AF เพื่อผลิต ปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งใช้สำหรับข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ปลูกเองนี้ด้วย

       การที่เราปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ไม่ใช่แค่ยิงนกทีเดียวได้นก 2 ตัว แต่น่าจะยิงนกทีเดียวได้เป็น 10 กว่าตัว  เพราะข้าวไรซ์เบอร์รี่มีประโยชน์มากมาย เช่น 

  • สามารถต้านอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง 
  • ควบคุมน้ำตาลสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน 
  • ใช้ควบคุมน้ำหนักสำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วน 
  • ช่วยลดริ้วรอยและชะลอความแก่  
  • ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อม  
  • เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อระบบเลือด 
  • มีไฟเบอร์สูง ช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอล ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       ปุ๋ยมูลไส้เดือนเปรียบเสมือนพระเอก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ก็เปรียบเสมือนนางเอก ทั้งสองสิ่งสามารถประสานกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างลงตัว จึงกลายเป็นผลผลิตที่มาจากความตั้งใจใส่ใจ และสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อหลายชีวิต นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดผลดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชาวบ้านที่มารับจ้างไถนา, หว่านกล้า, หว่านมูลไส้เดือน,  ฉีดพ่นฮอร์โมนนมสด, ฉีดพ่นฮอร์โมนไข่ และเชื้อราไตรโตเดอร์มา จนถึงคนเกี่ยวข้าวและสิ้นสุดที่โรงสีข้าว


        ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เราปลูกเอง เป็นที่สนใจแก่ญาติพี่น้องและชาวบ้านใกล้เคียงในหมู่บ้าน เริ่มมีชาวนาตระหนักถึงการใช้ปุ๋ย จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีมาตลอดชีวิต ก็เริ่มเปลี่ยนแนวคิดและตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น มีการตื่นตัวถามไถ่ สนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สนใจอยากปลูกข้าวในแนวทางใหม่ๆ เช่น สมัครเป็นสมาชิกกับ  ธกส.  (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)  เพื่อปลูกข้าวในโครงการของเพื่อนพึ่งภาฯ หรือบางคนเกิดแนวคิดใหม่ๆ เช่นจากที่เคยปลูกแต่ข้าวขาว ก็คิดอยากเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวของตัวเองโดยหันมาทดลองปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เพิ่ม

“บ้านข้าว เล่าเรื่อง” จึงเป็นเรื่องราวที่มาจากแรงบันดาลใจที่เห็นความจำเป็นว่า คนเราควรจะรับสิ่งที่ดี ที่มีประโยชน์เข้าไปในร่างกายเพื่อปกป้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง เราจึงอยากแบ่งปันเรื่องราวดีๆ สร้างแนวคิดที่ดีเรื่องของการไม่ใช้ปุ๋ยเคมี อยากเล่าเรื่องราวในมุมเล็กๆ เกี่ยวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ และการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน ให้ผู้สนใจได้รับรู้ เพื่อส่งผลให้เกิดประโยชน์และใส่ใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ผู้เขียนอาจจะไม่ได้มีความชำนาญเรื่องการเกษตร ไม่ใช่ชาวนาโดยแท้ แต่ผู้เขียนก็มีความสนใจ ใส่ใจ ทดลองลงมือทำอย่างจิงจัง จึงอยากมาเล่าเรื่องราวสนุกๆ ที่ได้พบเจอ จากประสบการณ์จริง โดยหวังจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ และเพื่อความเพลิดเพลินในแนวทางเกษตรแบบครัวเรื่อนง่ายๆ 

บ้านข้าวเล่าเรื่อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น