menu

วันจันทร์ที่ 26 ตุลาคม พ.ศ. 2558

การร่อนมูลไส้เดือน ผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน การเลี้ยงไส้เดือน

อ่านดูหัวข้อนี้แล้ว คงรู้สึกแปลกใจว่ามันเกี่ยวข้องกับไส้เดือนยังไง "ร่อนมูลไส้เดือน" คืออะไร 

การร่อนมูลไส้เดือน เมื่อเราเอาไส้เดือนใส่ไว้ในมูลวัว   ไส้เดือนจะดูดกินมูลวัว และถ่ายมูลตัวเอง เป็นวงจรเช่นนี้ จนเมื่อครบ 2 เดือน ไส้เดือนได้ดูดกินมูลวัวจนหมด กลายเป็นว่าไส้เดือนก็อาศัยอยู่ในมูลของตัวเอง จึงเป็นเวลาที่เราต้องทำการร่อนแยกมูลไส้เดือนและตัวไส้เดือนออกจากกัน

เมื่อเราร่อนตะแกรง มูลไส้เดือนจะหล่นรอดตะแกรงลงสู่กะละมัง ส่วนตัวไส้เดือนยังคงอยู่บนตะแกรง ให้นำตัวไส้เดือนใส่ใน Bedding (เบดดิ้ง – มูลวัว) กองใหม่ เพื่อให้ไส้เดือนทำการย่อยสลาย Bedding ต่อไป ส่วนมูลไส้เดือนที่ร่อนได้ก็นำไปเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือนใส่ต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นวัฏจักรชีวิตของไส้เดือนตลอดไป
ตระแกรงสำหรับร่อนมูลไส้เดือน



เมื่อร่อนมูลหมดจะเหลือตัวไส้เดือนบนตระแกรง

บ้านข้าวเล่าเรื่อง

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558

Bedding บ้านไส้เดือน ปุ๋ยมูลไส้เดือน วิธีการทำ bedding

    Bedding อ่านดูก็น่าจะหมายถึงเตียงนอน หรือหมายถึงการนอน  ถ้าสำหรับเราๆ Bedding ก็เปรียบเสมือน My home หรือบ้านที่อบอุ่นนั่นเอง แต่ถ้าสำหรับเจ้าไส้เดือน AF นั้น  Bedding เปรียบเสมือนเป็นบ้านที่อบอุ่นของเจ้าไส้เดือนนั่นเอง

   Bedding หรือ บ้านไส้เดือน ทำมาจากมูลวัวนม หรือมูลควายธรรมดาตามท้องไร่ท้องนา หรืออาจจะเป็นมูลหมูก็ได้ตามสะดวก เพราะเจ้าไส้เดือน AF เป็นไส้เดือนพันธุ์ที่อยู่ได้ในมูลของสัตว์ตระกูลกีบ ทุกชนิด  

   การเตรียมบ้านไส้เดือน ก็ง่ายไม่มีขั้นตอนซับซ้อน เพียงแค่นำมูลวัวนมแช่ในน้ำ ผ่านไปสัก 7 วัน ก็วิดน้ำใสๆ ทิ้ง  ที่บ้านเรามีต้นกล้วยเยอะ จึงได้ตัดใบกล้วยใส่ลงไป แล้วหมักเป็นอาหารของไส้เดือนไปด้วยเลย





   วิธีการทำบ้านไส้เดือน หรือ Bedding นี้  ไม่ได้ใช้สำหรับการอยู่อาศัยซุกตัวนอนของไส้เดือนเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ Bedding ยังเป็นอาหารของไส้เดือนอีกด้วย หรือพูดง่ายๆคือ ไส้เดือนมันกิน Bedding ของตัวเอง ในการกินนี้ กว่าไส้เดือนกินมูลวัว(Bedding)จนหมด ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน ซึ่งมูลวัวที่ไส้เดือนกินเข้าไปนั้น จะถูกเปลี่ยนสภาพเมื่อถูกกิน และขับออกมาเป็นมูล ซึ่งก็คือปุ๋ยมูลไส้เดือนนั่นเอง ทั้งตัวไส้เดือนและมูลไส้เดือนจะยังคงปนๆกันอยู่ จึงถึงเวลาที่เราต้องร่อนเอาตัวไส้เดือนออกจากมูลไส้เดือน หรือการร่อนมูลไส้เดือนนั่นเอง  แล้วเปลี่ยน Bedding ใหม่ให้  เจ้าไส้เดือนก็จะมีบ้านใหม่ที่อบอุ่นสบายเนื้อสบายตัวทุก 2 เดือน (มูลไส้เดือนที่ร่อนได้ก็จะนำไปเป็นปุ๋ยนำมาใส่ต้นข้าว)  เป็นวงจรชีวิตที่เรียบง่ายอย่างนี้ไปถึง 4-5  ปี จึงจะสิ้นอายุเจ้าไส้เดือน

ปุ๋ยมูลไส้เดือน

บ้านข้าวเล่าเรื่อง

วันอาทิตย์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ปุ๋ยน้ำบำรุงดินสูตรฮอร์โมนนมสด

       เพราะเราตั้งใจว่าข้าวไรซ์เบอร์รี่ของเราจะไม่ใช้ปุ๋ยเคมี แต่จะใช้เพียงปุ๋ยมูลไส้เดือน และจุลินทรีย์ในการบำรุงดินเท่านั้น แต่เรายังมีอีกตัวช่วยที่เป็นส่วนสำคัญในการบำรุง คือ “ฮอร์โมนนมสด” 

       ฮอร์โมนนมสด นำมาใช้โดยผสมน้ำฉีดพ่นเป็นปุ๋ยน้ำบำรุงดินและต้นข้าว โดยฉีดพ่นช่วงเวลาที่ไม่มีแสงแดดแรง หรือช่วงพระอาทิตย์ใกล้จะตกดิน กำลังดี ฝอยละอองน้ำจากเครื่องพ่นให้ความรู้สึกเย็นสบาย  กลิ่นกากน้ำตาลลอยมากับฝอยน้ำ สัมผัสได้ว่าไม่มีอันตราย 




       ก่อนจะพูดถึงส่วนผสมของ ฮอร์โมนนมสด ว่ามีส่วนผสมอะไรบ้าง ต้องขอกล่าวชื่นชมเจ้าของสูตรที่เผยแพร่จนขยายวงกว้างไปสู่ผู้สนใจ และเกษตกรทั่วประเทศไทย  คือคุณลุงชัยพร พรหมพันธ์ ชาวนาดีเด่น พ.ศ. 2538  ปัจจุบันคุณลุงได้รับการแต่งตั้งโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เป็นปราชญ์ของแผ่นดินใน พ.ศ. 2558 ได้รับฉายา คือชาวนาเงินล้าน

       ฮอร์โมนนมสด ใช้เพื่อช่วยบำรุงใบ บำรุงลำต้นของข้าวไรซ์เบอร์รี่ให้แข็งแรง ใช้ฉีดพ่นต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่มีอายุน้อยกว่า 2 เดือน  มีส่วนประกอบ คือ 



      1. นมสดจืด 1 ขวดกลาง
      2. นมเปรี้ยว 1 ขวด  
      3. กากน้ำตาล 3 กิโลกรัม 
      4. แป้งลูกข้าวหมาก 2 ลูกเล็กๆ                                                                                     
วิธีทำ
นำส่วนผสมทั้งหมดมาผสมในแกลลอน เขย่าให้กันและปิดฝาแกลลอนให้สนิทและทิ้งข้ามคืน เมื่อถึงตอนเช้าให้คลายฝาแกลลอนออกเพื่อให้ก๊าซที่เกิดจากการหมักระเหยออก (เวลาคลายฝา จะได้ยินเสียงก๊าสซ่า เหมือนเวลาเราเปิดฝาขวดน้ำอัดลม) จากนั้นก็ปิดฝาแกลลอนให้สนิทและทิ้งข้ามคืนเช่นเดิม ให้ทำแบบนี้ในทุกเช้าเป็นเวลา 7 วัน จากนั้นก็ปิดฝาให้สนิท ทิ้งไว้เฉยๆอีก 7 วัน เมื่อครบกำหนดก็จะสามารถนำฮอร์โมนนมสดนี้ไปใช้กับแปลงข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้



วิธีใช้  
ผสมฮอร์โมนนมสด  จำนวน 70 CC. ต่อน้ำ 20 ลิตร  ฉีดพ่น 3 วันต่อครั้ง หรือ 7 วันต่อครั้ง ตามเหมาะสม(เหมาะสำหรับใช้กับพืชอายุยังไม่ถึง 2 เดือน)




                                                                                                                 บ้านข้าวเล่าเรื่อง

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

วิดน้ำเข้าแปลงนาข้าวไรซ์เบอร์รี่


ได้มีโอกาสมาลอง วิดน้ำเข้าแปลงนาข้าวไรซ์เบอร์รี่ด้วยตัวเอง เพราะอยากจะรู้ว่าชาวนาเค้าทำกันยังไง หากเราไม่มาทำเองก็คงไม่รู้  จึงเริ่มต้นจากการปรับตัวเองก่อน ซึ่งก็ดูจะไม่ยากนะ แต่ก็เหนื่อยเหมือนกัน  เพราะเราต้องเตรียมเครื่องปั๊มน้ำ เตรียมน้ำมันใส่เครื่องฯ แรกๆ ก็นั่งรอถ่ายน้ำเข้านา พอเริ่มนานก็เปลี่ยนเป็นนอนรอ ปั๊มน้ำตั้งแต่สายๆ ไปเสร็จเอาตอนที่ 4 โมงเย็น วิดน้ำเข้านาได้ 3 แปลง ยังเหลืออีก 4 แปลง  มันเป็นความรับผิดชอบที่เราต้องไปดูแลเอง เป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์จริง  ที่มันมีจังหวะในตัวเอง ต้องอดทน ต้องรอและต้องมีวินัยในการทำงาน

        ตั้งแต่วันแรกที่ไถนาปรับดิน กว่าจะถึงวันเกี่ยวข้าว เป็นเวลาที่ยาวนานมากในความรู้สึกของผู้เขียน และจากที่ได้ลองลงมือปฏิบัติงานทุกขั้นตอน ก็รู้สึกแปลกๆ จะบอกว่าตัวเราเองเป็นชาวนาก็เคอะเขิน แปลกๆตัวเองเหมือนกัน แต่ก็พูดได้เต็มปากเต็มคำว่าได้นำทฤษฏีความรู้มาปรับใช้ให้เข้ากับการทำนา ได้ลองได้เห็นและเข้าใจจริงๆ และจะพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นต่อไป








                    บ้านข้าวเล่าเรื่อง

เจ้าไส้เดือน AF ก็กินเจนะ อาหารไส้เดือน

       เพราะบ้านคุณแม่ปลูกผลไม้หลายอย่าง ทั้งมะละกอ มะม่วง กล้วย น้อยหน่า ขนุน และแก้วมังกร  ทุกคนในบ้านกินเนื้อของผลไม้จนหมด เหลือแต่เปลือกทิ้ง ฉะนั้น เปลือกทุกเปลือกจึงเป็นอาหารของหนู บ้านหลังนี้จึงปลอดจากขยะอินทรีย์ เพราะมีครอบครัวหนูไส้เดือนเป็นผู้รับผิดชอบขยะเศษอาหารทั้งหมดทั้งมวล   


มูลที่หนูถ่ายออกมามีคุณค่าต่อต้นข้าวอย่างเหลือเชื่อ เพราะในลำไส้ของหนูมีจุลินทรีย์ที่ช่วยให้ธาตุอาหารหลายๆ และเมื่อเปลี่ยนสภาพเป็นปุ๋ยมูลไส้เดือน ก็สามารถนำมาใช้กับต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ได้เลย  จุลินทรีย์ในปุ๋ยจะไปบำรุงดิน ดินจะร่วนซุย ดินโปร่ง มีรูพรุนจำนวนมาก ทำให้รากหยั่งลงลึก ลำต้นก็จะแข็งแรง 


ไม่น่าเชื่อเลยว่าไส้เดือนตัวกระจิ๋วนึงอย่างหนูจะ Amazing ขนาดนี้





                                                                                                  หนู AF, บ้านข้าวเล่าเรื่อง

รกหญ้าไม่ดีต่อต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่

รกหญ้าไม่ดีต่อต้นข้าวไรซ์เบอร์รี่ เพราะมันแย่งอาหารของต้นข้าว ดูดสารอาหารที่มีประโยชน์ออกไป และมาเลี้ยงรกหญ้านี้จนแข็งแรง และนานวันยิ่งขึ้น มันก็จะยิ่งโตจนปกคลุมต้นข้าวจนมิด นั่นก็แปลว่าจะทำให้เราก็อดกินข้าวสิ  

สำหรับเรื่องของรกหญ้านี้ ปราชญ์ชาวบ้านแนะนำว่า ให้ใช้เครื่องตัดหญ้าตัดยอดหญ้าเลย (ซึ่งก็จะโดนยอดต้นข้าวไปด้วย)  และต้นหญ้าที่ตัดไม่ต้องโกยไปทิ้ง เพราะมันจะเป็นปุ๋ยกับต้นข้าวต่อไป

จากคำแนะนำของปราชญ์ชาวบ้าน จึงได้นำไปทดลองทำดู และเมื่อผ่านไป 2 – 3 วัน ยอดข้าวก็พุ่งขึ้นมาจริงๆ ต้องขอยกความดีความชอบนี้ให้กับปราชญ์ชาวบ้านที่บอกวิธีแก้ปัญหาได้อย่างชาญฉลาด ทำให้เราแก้ปัญหาเรื่องรกข้าวได้อย่างถูกวิธี และสบายใจ

หญ้าสีแห้งๆ เรียกว่ารกหญ้า



บ้านข้าวเล่าเรื่อง

ไส้เดือนกินอะไร ปุ๋ยมูลไส้เดือน อาหารไส้เดือน

ส้เดือนกินอะไร

     อาหารของไส้เดือน ก็คือเศษอาหารของคนนี่เอง และยังรวมถึงเศษพืชผัก ผลไม้ทุกชนิด  ถ้าวันไหนเรากินแตงโม ไส้เดือนก็จะได้กินเปลือกแตงโม  ถ้าผัดผักบุ้งไฟแดง ไส้เดือนก็ได้กินรากผักบุ้งที่เราตัดทิ้ง วันไหนทำต้มยำปลา เนื้อปลาที่เราเอามาทำต้มยำ ส่วนไส้เดือนก็กินไส้ปลาที่เราทิ้ง วันไหนเรากินไข่เจียวไข่ดาว ก็เอาเปลือกไข่ไปตำให้ละเอียด เพื่อให้ไส้เดือนกินบำรุงกล้ามเนื้อ เพราะเปลือกไข่มีแคลเซียมสูง เป็นอาหารไส้เดือน เพราะแบบนี้ บ้านเราเลยเป็นบ้านที่ปลอดจากขยะอินทรีย์โดยสิ้นเชิง


 
    

      แต่สิ่งที่ทำให้แปลกใจมากๆ ก็คือตอนที่ปลูกกล้วยไว้กอหนึ่ง ก็คิดแค่ว่ามีกล้วยน้ำว้าไว้กิน ไม่ได้คิดเชิงลึก เชิงกว้าง เชิงแคบอะไร จนเมื่อเลี้ยงไส้เดือนแล้วได้ search หาข้อมูลใน Internet จึงพบว่ากล้วยเป็นอาหารของไส้เดือนที่ amazing จริงๆ เหลือเชื่อว่าต้นกล้วยต้นเดียวไส้เดือนเอาไปใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด ไม่เหลือวิญญาณของต้นกล้วยเลย  จากการเลี้ยงไส้เดือน จึงคิดว่ามาถูกทางแล้วก็คือเรื่องการปลูกต้นกล้วยต้นกล้วยปลูกก่อนที่จะคิดเลี้ยงไส้เดือนซะอีก แต่ไม่คิดว่าทั้งไส้เดือนและ ต้นกล้วยจะมาเอื้อประโยชน์ให้กันและกันได้มากขนาดนี้ 


       กล้วยลูกที่งอมๆ (ไม่มีใครกิน) เอาละลายน้ำให้นิ่ม กลายเป็นอาหารไส้เดือน ไส้เดือนกวาดเรียบ ส่วนเปลือกกล้วยก็หมักให้นิ่ม (สีเปลือกเป็นสีดำ) แล้วเอาขี้วัวกลบไว้  2 – 3 วันไม่มีเหลือซาก ส่วนต้นกล้วยจะมีใบแห้งๆ ทยอยตกลงพื้น  เอาหมักในขี้วัว  ไส้เดือนก็จะซุกตัวนอนเย็นสบายเนื้อตัว ไส้เดือนจะชอบมากๆ ส่วนต้นกล้วยเมื่อออกเครือแล้ว  ต้นจะเริ่มเน่าเปลี่ยนจากสีเขียวเป็นสีน้ำตาลและนิ่มลงเรื่อยๆ ถือว่าเป็นอาหารไส้เดือนที่อร่อยที่สุด เป็นอาหารจานหรูของไส้เดือนเลยทีเดียว



  หนู AF, บ้านข้าวเล่าเรื่อง

หนูชื่อ AF ไส้เดือนสายพันธ์ African Night Crawler

   หนูชื่อ AF (เป็นชื่อของไส้เดือน สายพันธ์ African  Night  Crawler) ต้นตระกูลของหนูอยู่ทวีปแอฟริกา ตระกูลของหนูใหญ่มาก จึงทำให้กระจัดกระจายไปทั่วโลก แต่ไปโด่งดังสุดๆ ที่อเมริกา  แล้วก็มี ดร.ของเมืองไทยเป็นผู้นำพวกหนูเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมหาสมุทรข้ามภูเขาหลายลูก จนได้มาถึง อ.สว่างแดนดิน จ.สกลนคร หนูได้มาอยู่กับคุณแม่ คุณแม่ดูแลหนูเป็นอย่างดีให้อาหารให้น้ำเป็นระยะๆ พวกหนูกินอยู่อย่างสุขสบาย มีอาหารที่เน้นโปรตีนสูงๆ มีเศษผักผลไม้ และมีน้ำที่เราดูดกินเป็นน้ำผสมรำอ่อน ซึ่งเราได้ดูดกิน ได้ทั้งความชื้นและคุณค่าทางโภชนาการ หนูอยู่ที่นี่และช่วยคุณแม่ผลิต มูลไส้เดือน เพื่อที่คุณแม่นำไปใช้เป็นปุ๋ย หรือก็คือการทำปุ๋ยไส้เดือน และคุณแม่ก็ได้เล่าเรื่องราว วิธีทำปุ๋ยไส้เดือน ผ่าน blog บ้านข้าวเล่าเรื่อง พวกหนูและคุณแม่ต่างถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน หนูอยู่อย่างเงียบๆ ตามอัตภาพ ทุก 3 วัน หรือทุก 7 วัน คุณแม่ก็จะให้น้ำให้อาหารครั้งหนึ่ง หนูอยู่ได้กินง่าย และช่วยสร้างประโยชน์อย่างมากที่สุดเกินตัวหนูจริงๆ





















หนู AF, บ้านข้าวเล่าเรื่อง

วันเสาร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ที่มาของบ้านข้าวเล่าเรื่อง ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เลี้ยงไส้เดือนทำปุ๋ย










       ผู้เขียนเกิดแนวคิดที่ว่า ในชีวิตของมนุษย์เรานั้น จะต้องผูกพันกับปัจจัย 4 อันได้แก่ อาหาร, ที่อยู่อาศัย, เครื่องนุ่งห่ม และยารักษาโรค ซึ่งหากจะพูดถึงปัจจัยด้านอาหาร แน่นอนว่า "ข้าว" เป็นส่วนประกอบหลักของอาหารทุกมื้อ ข้าวอยู่กับคนทุกครอบครัว ทุกยุคทุกสมัย เรากินข้าวกันมาตลอดชีวิต แต่เราแทบไม่เคยตระหนักเห็นความสำคัญของข้าวเท่าไหร่นัก เรากินข้าวเพราะเราเคยชินมาตั้งแต่เกิด กินเมื่อหิวข้าว เหมือนกับดื่มน้ำเพราะหิวน้ำ

       ผู้เขียนเคยมีคำถามในใจว่า หากเราจะกินข้าวที่ปลอดภัย ข้าวที่ปลอดสารเคมี จะหาได้จากที่ไหน และเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าข้าวที่เรากินนี้เป็นข้าวที่สะอาดปลอดสารจริงๆ ข้าวประเภทไหนจะดีต่อสุขภาพของเราและทำให้เรามั่นใจได้จริงๆ คำตอบคือ น่าจะเป็นข้าวของเราเอง และเนื่องจากผู้เขียนมีความสนใจ ข้าวไรซ์เบอร์รี่ เป็นทุนเดิม ด้วยเล็งเห็นถึงประโยชน์มากมายของข้าวชนิดนี้ จึงได้มีความคิดริเริ่มที่จะ ปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ เอง

       และนอกเหนือจาก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ที่ปลูกเองแล้ว ผู้เขียนยังได้มีการเลี้ยงไส้เดือนดิน พันธุ์ AF เพื่อผลิต ปุ๋ยมูลไส้เดือน ซึ่งใช้สำหรับข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่ปลูกเองนี้ด้วย

       การที่เราปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่ ไม่ใช่แค่ยิงนกทีเดียวได้นก 2 ตัว แต่น่าจะยิงนกทีเดียวได้เป็น 10 กว่าตัว  เพราะข้าวไรซ์เบอร์รี่มีประโยชน์มากมาย เช่น 

  • สามารถต้านอนุมูลอิสระ อันเป็นสาเหตุของโรคมะเร็ง 
  • ควบคุมน้ำตาลสำหรับคนเป็นโรคเบาหวาน 
  • ใช้ควบคุมน้ำหนักสำหรับคนที่ต้องการลดความอ้วน 
  • ช่วยลดริ้วรอยและชะลอความแก่  
  • ลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ และโรคสมองเสื่อม  
  • เหมาะสำหรับผู้ที่เป็นโรคโลหิตจาง จากการขาดธาตุเหล็ก ซึ่งเป็นแร่ธาตุที่สำคัญต่อระบบเลือด 
  • มีไฟเบอร์สูง ช่วยลดระดับไขมันและคอเลสเตอรอล ทำให้ระบบขับถ่ายทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
       ปุ๋ยมูลไส้เดือนเปรียบเสมือนพระเอก ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ก็เปรียบเสมือนนางเอก ทั้งสองสิ่งสามารถประสานกันเป็นหนึ่งเดียวได้อย่างลงตัว จึงกลายเป็นผลผลิตที่มาจากความตั้งใจใส่ใจ และสร้างประโยชน์และคุณค่าต่อหลายชีวิต นอกจากนั้น ยังทำให้เกิดผลดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง ตั้งแต่ชาวบ้านที่มารับจ้างไถนา, หว่านกล้า, หว่านมูลไส้เดือน,  ฉีดพ่นฮอร์โมนนมสด, ฉีดพ่นฮอร์โมนไข่ และเชื้อราไตรโตเดอร์มา จนถึงคนเกี่ยวข้าวและสิ้นสุดที่โรงสีข้าว


        ข้าวไรซ์เบอร์รี่ที่เราปลูกเอง เป็นที่สนใจแก่ญาติพี่น้องและชาวบ้านใกล้เคียงในหมู่บ้าน เริ่มมีชาวนาตระหนักถึงการใช้ปุ๋ย จากที่เคยใช้ปุ๋ยเคมีมาตลอดชีวิต ก็เริ่มเปลี่ยนแนวคิดและตระหนักถึงอันตรายจากการใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น มีการตื่นตัวถามไถ่ สนทนาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน สนใจอยากปลูกข้าวในแนวทางใหม่ๆ เช่น สมัครเป็นสมาชิกกับ  ธกส.  (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร)  เพื่อปลูกข้าวในโครงการของเพื่อนพึ่งภาฯ หรือบางคนเกิดแนวคิดใหม่ๆ เช่นจากที่เคยปลูกแต่ข้าวขาว ก็คิดอยากเพิ่มมูลค่าให้กับข้าวของตัวเองโดยหันมาทดลองปลูกข้าวไรซ์เบอร์รี่เพิ่ม

“บ้านข้าว เล่าเรื่อง” จึงเป็นเรื่องราวที่มาจากแรงบันดาลใจที่เห็นความจำเป็นว่า คนเราควรจะรับสิ่งที่ดี ที่มีประโยชน์เข้าไปในร่างกายเพื่อปกป้องดูแลร่างกายให้แข็งแรง เราจึงอยากแบ่งปันเรื่องราวดีๆ สร้างแนวคิดที่ดีเรื่องของการไม่ใช้ปุ๋ยเคมี อยากเล่าเรื่องราวในมุมเล็กๆ เกี่ยวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ และการผลิตปุ๋ยมูลไส้เดือน ให้ผู้สนใจได้รับรู้ เพื่อส่งผลให้เกิดประโยชน์และใส่ใจดูแลตัวเองกันมากขึ้น ผู้เขียนอาจจะไม่ได้มีความชำนาญเรื่องการเกษตร ไม่ใช่ชาวนาโดยแท้ แต่ผู้เขียนก็มีความสนใจ ใส่ใจ ทดลองลงมือทำอย่างจิงจัง จึงอยากมาเล่าเรื่องราวสนุกๆ ที่ได้พบเจอ จากประสบการณ์จริง โดยหวังจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ที่สนใจ และเพื่อความเพลิดเพลินในแนวทางเกษตรแบบครัวเรื่อนง่ายๆ 

บ้านข้าวเล่าเรื่อง